Home » Essential oil
จากกลิ่นหอมของธรรมชาติสู่น้ำมันหอมระเหยที่มีคุณสมบัติเป็นสุคนธบำบัด จะช่วยเพิ่มเอกลักษณ์และความโดดเด่นให้กับทุกผลิตภัณฑ์ของคุณ
น้ำมันหอมระเหย หรือ essential oils คือ สารประกอบอินทรีย์ชนิดหนึ่ง ที่พืชมักจะผลิตออกมาและเก็บไว้ตามส่วนต่างๆ เช่น กลีบดอก, ผิวผลไม้ เปลือกไม้ โดยแต่ละวัตถุดิบนั้น ก็จะให้กลิ่นที่หอมและมีเอกลักษณ์เฉพาะ ซึ่งมนุษย์มักจะนำวัตถุดิบต่างๆ เหล่านั้น มาทำการสกัดเพื่อดึงน้ำมันหอมระเหยมาใช้งานและนำมาเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ต่างๆ
โดยน้ำมันหอมระเหยมักจะอยู่ในรูปแบบของเหลวสีใส หรือในบางครั้งก็อาจพบเจอสีอื่นๆ เช่น สีเหลือง หรือสีน้ำเงินได้ ขึ้นอยู่กับชนิดของวัตถุดิบต้นกำเนิด น้ำมันหอมระเหยจะไม่ละลายน้ำ แต่สามารถละลายได้ในเอทานอล หรือตัวทำละลายไม่มีขั้ว เช่น ไขมัน ขี้ผึ้ง และเมื่อได้รับความร้อนเล็กน้อย หรืออยู่ในอุณหภูมิห้อง อนุภาคของน้ำมันจะระเหยออกมาเป็นไอ และส่งกลิ่นหอมต่างๆ ออกมา
สำหรับพืชนั้น น้ำมันหอยระเหยถูกสร้างมาเพื่อจุดประสงค์หลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นการล่อแมลงให้เข้ามาช่วยผสมเกสร รวมถึงป้องกันการรุกรานจากศัตรูพืช และรักษาความชุ่มชื้นของตัวพืชเองด้วย
สำหรับมนุษย์เอง น้ำมันหอมระเหยถือว่าเป็นส่วนผสมที่สำคัญในผลิตภัณฑ์ประเภทต่างๆ และสามารถนำมาใช้งานในหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็น
น้ำมันหอมระเหยมีสรรพคุณในการต้านเชื้อจุลินทรีย์ต่างๆ เช่น แบคทีเรีย เชื้อรา ทำให้น้ำมันหอมระเหยถูกใช้เป็นหนึ่งในส่วนผสมของสารกันบูดในผัก ผลไม้ ธัญพืช ซีเรียล และน้ำมันหอมระเหยยังถือว่าเป็นส่วนผสมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสามารถนำมาใช้ในการแต่งกลิ่นอาหารต่างๆ ด้วย
น้ำมันหอมระเหยมักถูกใช้เป็นสารกันเสียของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางต่างๆ เพื่อช่วยลดการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ รวมถึงการนำมาใช้เพื่อสร้างกลิ่นต่างๆ ในน้ำหอม นอกจากนี้ น้ำมันหอมระเหยจากวัตถุดิบบางประเภท อย่างเช่น น้ำมันหอมระเหยส้ม ลาเวนเดอร์ ที ทรี ยังถูกใช้ในสกินแคร์เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวหนัง ลดอาการอักเสบและริ้วรอยต่างๆ ได้ หรือน้ำมันหอมระเหยจากยูคาลิปตัส โรสแมรี่ก็สามารถช่วยปรับสภาพผิวและเพิ่มความชุ่มชื้นได้
น้ำมันหอมระเหยยังมีคุณสมบัติในการต้านเชื้อจุลินทรีย์ ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ ต้านอาการแพ้ ลดอาการคัดจมูก ช่วยปรับสมดุลร่างกาย เพิ่มภูมิคุ้มกัน พร้อมกับสร้างความผ่อนคลายให้แก่ร่างกายและจิตใจ กระตุ้นการไหลเวียนเลือด รวมถึงสามารถช่วยปรับสมดุลด้านจิตใจ ปรับอารมณ์ให้สมดุล ลดความเครียด สมองตื่นตัว ให้รู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่ามากขึ้น
ในการผลิตน้ำมันหอมระเหยนั้น จะต้องทำการสกัดน้ำมันจากส่วนต่างๆ ของพืชที่ใช้เป็นวัตถุดิบ ซึ่งในพืชแต่ละชนิดเองก็จะมีปริมาณของน้ำมันหอมระเหยมากน้อยแตกต่างกันไปด้วย ทำให้วิธีการสกัดน้ำมันหอมระเหยสามารถทำได้หลายวิธี ตามแต่ละส่วนและประเภทของพืชที่นำมาสกัด เพื่อให้ได้ปริมาณน้ำมันหอมระเหยมากขึ้น และป้องกันไม่ให้องค์ประกอบบางอย่างถูกทำลายหายไประหว่างขั้นตอนการผลิต
โดยการผลิตน้ำมันหอมระเหยหรือการสกัดนั้น จะมีวิธีการหลักๆ 3 วิธี ได้แก่
วิธีสกัดแบบการกลั่นไอน้ำเป็นวิธีการผลิตน้ำมันหอมระเหยที่นิยม มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และต้นทุนไม่สูง แต่ได้น้ำมันหอมระเหยที่มีคุณภาพ โดยวิธีการสกัด จะเริ่มตั้งแต่การนำพืชมาวางในหม้อกลั่นไอน้ำ ไอน้ำจะระเหยและนำพาโมเลกุลของสารอินทรีย์หอมระเหยในพืชให้ลอยไปตามท่อที่ต่อไว้ด้านบน แล้วเดินทางต่อไปยังท่อเกลียวหล่อเย็น ไอหอมจะเกิดการควบแน่นจนกลายเป็นของเหลว ได้เป็นน้ำสกัดน้ำมันหอมระเหย (Floral Water) และน้ำมันหอมระเหย (Essential oils) ลอยอยู่บนผิวน้ำ เมื่อกรองเรียบร้อยก็จะได้น้ำมันหอมระเหยที่พร้อมใช้งาน
ถึงวิธีสกัดแบบการกลั่นไอน้ำจะได้รับความนิยม แต่ก็ใช่ว่าพืชทุกชนิดจะเหมาะกับวิธีสกัดนั้น วิธีสกัดด้วยตัวทำละลาย จึงเหมาะสำหรับการสกัดน้ำมันหอมระเหยจากพืชที่มีปริมาณน้ำมันน้อย ไม่เข้มข้น หรือมีความบอบบาง กลิ่นถูกความร้อนทำลายได้ง่าย เช่น พืชส่วนที่เป็นดอกไม้ อย่างดอกมะลิ ดอกกุหลาบ เป็นต้น
วิธีการสกัดด้วยตัวทำละลายจะเริ่มต้นด้วยการนำพืชส่วนที่ต้องการสกัด มาแช่ในสารตัวทำละลาย เช่น เฮกเซน (Hexane) หรือเบนซีน (Benzene) เพื่อดึงเอาสารประกอบทางเคมีต่างๆ ออกมา จากนั้นตัวทำละลายจะถูกทำให้ระเหย จนเหลือเพียงสารหอมระเหย สี ไขแวกซ์ต่างๆ ที่เรียกว่า คอนกรีต (Concrete) และในขั้นตอนสุดท้าย คอนกรีตจะถูกสกัดด้วยเอทิลแอลกอฮอล์เพื่อดึงสารประกอบที่ละลายในแอลกอฮอล์ออกมา แล้วจึงระเหยแอลกอฮอล์ออกไป ให้เหลือแค่ส่วนที่เป็นสารหอมระเหย สี และสารประกอบเคมีที่เหลือบางส่วน โดยน้ำมันหอมระเหยที่ได้ในวิธีการนี้จะถูกเรียกว่า แอบโซลูท (Absolute) เนื่องจากมีส่วนผสมของสารอื่นๆ ปนอยู่ในน้ำมันหอมระเหย
วิธีการสกัดแบบสกัดเย็น เป็นการผลิตน้ำมันหอมระเหยที่นิยมใช้กับวัตถุดิบประเภทส้ม มะนาว เบอร์กามอท หรือเปลือกผลไม้ต่างๆ ที่มีต่อมสะสมน้ำมันหอมระเหยใต้เปลือกผิว โดยการสกัดเย็นจะเริ่มจากการนำผลไม้ที่ต้องการสกัด มาบดด้วยเครื่องบดอัดไฮโดรลิคเพื่อคั้นเอาน้ำมันในเปลือกผิวออกมา โดยหลังจากการบดนั้น ก็จะมีทั้งน้ำมันหอมระเหย น้ำผลไม้ และกากออกมา ต้องทำการกรองอีกครั้งเพื่อแยกน้ำมันหอมระเหยออกมา
วิธีการสกัดแบบสกัดเย็นเป็นวิธีที่ไม่มีกระบวนการที่ผ่านความร้อน ทำให้เหมาะกับการสกัดกลิ่นส้ม กลิ่นซีตรัส (Citrus) ที่อาจถูกทำลายเมื่อผ่านความร้อนได้ ทำให้น้ำมันหอมระเหยยังคงกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ของวัตถุดิบเอาไว้ได้ แต่ในกระบวนการบดคั้น ก็อาจมีสารบางชนิดที่ไม่ต้องการเจือปนมาด้วย เช่น สารเบอร์แกพเทน (Bergapten) ที่อยู่ในน้ำมันบอร์กามอท ที่เป็นตัวเร่งให้ผิวระคายเคืองต่อแสงแดดได้ง่าย
แม้ว่าจะมีสรรพคุณมากมาย แต่น้ำมันหอมระเหยก็มีอายุการใช้งานที่จำกัด และยังสามารถระเหยได้ง่าย เพื่อให้น้ำมันหอมระเหยของเราสามารถใช้งานได้นานและไม่เสื่อมสภาพ จึงควรจัดเก็บน้ำมันและบรรจุภัณฑ์ของน้ำมันให้ถูกต้อง โดยวิธีการเก็บรักษาน้ำมันหอมระเหยที่ถูกต้อง มีอยู่ด้วยกันดังนี้
การเก็บรักษาน้ำมันหอมระเหยที่ดีนั้น ควรเก็บในบรรจุภัณฑ์ที่มิดชิด แน่นหนา เช่น ขวดสีชาหรือขวดทึบ และหลีกเลี่ยงไม่ให้แสงแดดส่องถึงน้ำมันภายใน รวมถึงต้องมีฝาปิดที่มิดชิด เพื่อไม่ให้น้ำมันระเหยออกไปได้
เพื่อให้น้ำมันหอมระเหยคงสภาพให้ได้นานที่สุด การเก็บรักษาน้ำมันหอมระเหยจึงควรเก็บในที่เย็นและแห้ง หรือมีอุณหภูมิที่คงที่ไม่ผันผวน และหลีกเลี่ยงอุณหภูมิสูง เพื่อไม่ให้องค์ประกอบบางอย่างเปลี่ยนแปลงและทำให้น้ำมันหอมระเหยเสียหายได้
แม้ว่าจะผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติ แต่น้ำมันหอมระเหยบางชนิดก็สามารถก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวในเด็กเล็กและสัตว์ ดังนั้น จึงควรจัดเก็บน้ำมันให้อยู่ในที่สูง ห่างจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
เราใช้คุกกี้ที่จำเป็นในการเก็บข้อมูล เพื่อนำไปปรับปรุงประสิทธิภาพในการเข้าชมเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น
ยอมรับทั้งหมด