SPECTRUM แนวทางการตลาดที่มัดใจชาวสีรุ้ง
รู้หรือไม่ จากการสำรวจของ LGBT-Captial.com พบว่าในปี 2019 ประชากร LGBTQIAN+ ในเอเชียมีจำนวนสูงถึง 174 ล้านคน โดยเป็นประชากรไทย 3.7 ล้านคน มีอำนาจการใช้จ่าย (GDP PPP) ประมาณ 2.25 ล้านล้านบาท ในทางการตลาดพวกชาว LGBTQIAN+ จึงเป็นหนึ่งในกลุ่มที่มีศักยภาพในการซื้อสูงมาก ๆ
แล้วหากแบรนด์เราอยากมัดใจชาว LGBTQIAN+ กลุ่มนี้ ควรทำการตลาดแบบไหนที่ดู ‘ไม่ฉาบฉวย’ กลยุทธ์การตลาดอย่าง SPECTRUM อาจจะเป็นคำตอบของคุณ โดยเราสามารถเรียบเรียงตัวอักษรแต่ละตัวออกมาอธิบายได้ดังนี้
- Simple : สินค้าที่ไม่มีขั้นตอนซับซ้อนที่มากจนเกินไปหรือบริการที่ให้เข้าถึงได้ไม่ยุ่งยาก มีการสื่อสารการตลาดโดยใช้เนื้อหาที่เข้าใจง่าย
- Private : สร้างกิจกรรมสำหรับกลุ่มที่มีความเหมือนกันหรือกลุ่มเพื่อนที่รู้ใจ เพื่อให้เกิดบรรยากาศความเป็นส่วนตัวและการแสดงออกอย่างเป็นตัวของตัวเอง
- Equality : สร้างความรู้สึกเท่าเทียม ความรู้สึกของการได้รับโอกาสในสังคมอย่างเสมอภาค ในการเลือกตัดสินใจบริโภคสินค้าหรือใช้บริการ
- Classy : ส่งเสริมความรู้สึกดูดี มีระดับ มีรสนิยมผ่านการเลือกใช้วัสดุสินค้า โทนสี หรือการตกแต่งบรรยากาศ รวมถึงการบริการอย่างมืออาชีพ
- Truth : สื่อสารกับผู้บริโภคอย่างจริงใจ บอกความจริงไม่บิดเบือนไม่คลุมเครือ เพื่อสร้างความเชื่อถือและความไว้ใจในกลุ่มผู้บริโภค
- Respect : ให้ความสำคัญกับการให้เกียรติ การเคารพความเป็นตัวตนของกลุ่มผู้บริโภค เพื่อตอบสนองความต้องการที่จะได้รับการยอมรับในสังคมของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ
- Utility : สินค้าต้องสามารถใช้ประโยชน์ได้จริงและตอบสนองความต้องการหรือแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคได้ ที่สำคัญสินค้าต้องมีคุณภาพได้มาตรฐาน
- Motivation : สร้างแรงจูงใจโดยเชื่อมโยงถึงความภาคภูมิใจในตนเอง ความรักความสัมพันธ์ในครอบครัว หรือสร้างแรงบัลดาลใจในการใช้ชีวิตการเอาชนะปัญหาอุปสรรค โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวพันกับการยอมรับทางเพศ
สุดท้ายแล้วข้อที่สำคัญที่สุดคือ แบรนด์ควรเข้าใจความต้องการ พฤติกรรม ของชาว LGBTQIAN+ โดยคิดจากตัวตนของ LGBTQIAN+ จริง ๆ ไม่ได้คิดเพียงพื้นฐานความเข้าใจแบบ Heterosexual และผลักดันแคมเปญต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เพราะชาว LGBTQIAN+ ก็เป็นอีกหนึ่งกลุ่มคนธรรมดาที่ต้องการใช้ชีวิตปกติทั่วไปในทุก ๆ วัน อย่างสง่าผ่าเผย ไม่ได้ใช้ชีวิตเพียงแค่ช่วงเดือน PRIDE MONTH เท่านั้น